วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปราสาทเขาพระวิหาร





คดีปราสาทพระวิหาร เป็นความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2502
คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากกัมพูชาเป็นเอกราช ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ประเทศไทยได้เป็นประเทศแรกที่ได้ให้การรับรอง จนมีการตั้งสำนักผู้แทนทางการทูตขึ้นที่กรุงพนมเปญ และสัมพันธภาพก็เจริญมาด้วยดีโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2501 เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำกรุงลอนดอน ซัมซารี ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหาร ลงในนิตยสาร "กัมพูชาวันนี้ (le Combodge d'aujourd'hui) " มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุบว่า "ไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร-อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์"[1] จากนั้นมาวิทยุและหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาก็ได้พูดถึงเรื่องสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเกิดกระแส "ทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย"[1] แต่ยังไม่รุนแรงนัก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปล้นสะดมทางชายแดนไทย-กัมพูชาเสมอ ๆ ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อดำเนินการตรวจสอบเส้นเขตแดน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ประเทศจีนได้ประกาศรับรองกัมพูชา และพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุได้เสด็จไปเยือนปักกิ่ง ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในช่วงระวังการแทรกซึมจากคอมมิวนิสต์รัฐบาลไทยจึงประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดตราดจันทบุรีปราจีนบุรีสุรินทร์บุรีรัมย์ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เหตุการณ์จึงตึงเครียดหนักขึ้น
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2501 มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพ แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ วันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เดินขบวนประท้วงประเทศกัมพูชา และอ้างถึงกรรมสิทธิ์ของไทยเหนือเขาพระวิหาร นอกจากนี้ยังมีการโจมตีระหว่างสื่อไทยและกัมพูชากันอยู่เนื่อง ๆ จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 รัฐบาลกัมพูชาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และความสัมพันธ์ก็เลวร้ายลงจนไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลก

คดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2447 ถึง พ.ศ. 2451 ประเทศฝรั่งเศสมีฐานะเป็นรัฐผู้อารักขากัมพูชา ได้ทำสัญญากับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ทางการสยามได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของราชอาณาจักรสยาม ไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า "แผนที่ผนวก 1" (Annex I map) )
กระนั้น สยามไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง ท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง[2] ต่อมา มีการประชุมคณะกรรมการที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2452 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 นี้เป็นหลัก ก็ไม่มีผู้คัดค้าน

ปี พ.ศ. 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าว และในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลไทยไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว[2] นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2473 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสรับเสด็จในฐานะทรงเยือนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา[2] แม้ในระหว่าง พ.ศ. 2477-2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มีการทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรสยาม แต่สยามยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป[2] เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายปิดปาก(estoppel)

ปี พ.ศ. 2501 หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่งเจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 เป็นหลักฐานสำคัญ ซึ่งแม้เส้นเขตแดนบนแผนที่จะไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเกณฑ์ แต่แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยถูกคัดค้านจากรัฐบาลสยามและไทยมาก่อน